ชุมชนดั้งเดิม
บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหรือบริเวณพื้นที่ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำปิง ยม และน่าน ก่อนที่จะเกิดเป็นบ้านเมืองในเครือข่ายของแคว้นสุโขทัย ได้พบร่องรอยหลักฐานการตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนขนาดเล็กบนเส้นทางคมนาคมติดต่อกันระหว่างรัฐหรืออาณาจักรโบราณที่มีความเป็นปึกแผ่นทางด้านการเมือง มีความก้าวหน้าทางเทคนิควิทยา มีอารยธรรม มีการนับถือศาสนาต่าง ๆ รัฐใหญ่ดังกล่าว
ได้แก่อาณาจักรพุกามทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ แคว้นหริภุญไชยในเขตจังหวัดลำพูนและลำปาง แคว้นละโว้หรือลพบุรีและแคว้นนครชัยศรีในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง แคว้นศรีจนาศะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาณาจักรกัมพูชา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สภาพของชุมชนเล็ก ๆ คงเป็นอยู่เช่นนี้มาจนกระทั่งเข้าสู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ชุมชนบางแห่งได้มีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนถึงกับเป็นชุมชนในระดับเมือง แถบพื้นที่จังหวัดสุโขทัยที่พบหลักฐานชุมชนโบราณใกล้กับเมืองสุโขทัยเก่า ได้แก่
แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย ซึ่งพบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ เช่น หอก มีด เครื่องประดับที่เป็นกำไลสำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน อาเกต ลูกปัดหินคานีเลียน เหรียญตราดวงอาทิตย์ และเศษภาชนะดินเผา นับเป็นแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำยมที่มีพัฒนาการทางด้านโลหะกรรม โดยเฉพาะความถนัดในด้านการถลุงเหล็กที่มีอายุประมาณ 2500 ปี มาจนถึงสมัยทวารวดี
ชุมชนบริเวณปราสาทเขาปู่จ่า บ้านนาเชิงคีรี ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ บนภูเขาเล็ก ๆ
เชิงเขาหลวงซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 40 – 50 เมตร มีปราสาทก่อด้วยอิฐลักษณะศิลปะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบาปวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นโบราณสถานอิทธิพลเขมรที่เก่าแก่ที่สุดในเขตจังหวัดสุโขทัย ชุมชนโบราณที่บริเวณปราสาทเขาปู่จ่าแสดงถึงพัฒนาการในการแปลงบ้านเป็นเมืองเล็ก ๆ ตรงเชิงเขาซึ่งตำแหน่งที่ตั้งไม่ไกลจากเขาหลวงอันเป็นแหล่งแร่ธาตุและสมุนไพรจากป่า มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกเป็นสังคมที่ไม่โดดเดี่ยว
กำเนิดเมืองสุโขทัย
หลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าได้มีชุมชนในบริเวณเมืองสุโขทัยมาก่อนแล้ว และมีพัฒนาการจากชุมชนเล็ก ๆ กลายเป็นชุมชนใหญ่ จนพัฒนาเป็นบ้านเมือง
จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าชุมชนนี้มีการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ มีการล่าสัตว์
หาของป่า เลี้ยงสัตว์ประเภทวัวควาย มีการทำภาชนะดินเผาขึ้นใช้เอง รู้จักการหลอมโลหะ มีความสัมพันธ์ติดต่อค้าขายกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงและที่อยู่ห่างไกล
ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างเด่นชัด ดังหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม เช่น ศาลตาผาแดง ก่อด้วยสิลาแลงซึ่งส่วนยอดได้พังทลายลงแล้ว ประติมากรรมหินทรายทั้งที่เป็นเทวรูปและเทวนารีรวมหกรูป เทียบรูปแบบได้กับศิลปะเขมรแบบบายน ตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของเขมร อีกแห่งหนึ่งคือ ปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยศิลาแลงที่วัดพระ-พายหลวง เรียงในแนวเหนือใต้ สร้างขึ้นตามคติมหายาน
ประมาณช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจาจึกวัดศรีชุม) ได้กล่าวว่าพ่อขุนศรีนาวนำถมเป็นกษัตริย์เสวยราชย์ในกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งพระองค์คงจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักเขมรกล่าวคือพ่อขุนผาเมืองผู้เป็นโอรสและครองเมืองราดได้พระราชธิดาของกษัตริย์เขมรเป็นมเหสี พร้อมได้รับราชทินนาม กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ และพระขรรค์ชัยศรีจากกษัตริย์เขมรด้วย
อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรในสุโขทัยเสื่อมถอยลงภายหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ในราว พ.ศ. 1760 ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นมีผู้นำชาวไทยคือพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมกันกำจัดอำนาจและขับไล่ขอมสบาดโขลญลำโพงออกไปจากเมืองสุโขทัยได้สำเร็จในราว พ.ศ. 1782 จากนั้นพ่อขุนผาเมืองได้ถวายพระนามกมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์และพระขรรค์ชัยศรี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ให้แก่พ่อขุนบางกลางหาว มีอำนาจในเมืองสุโขทัยแทนราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถม
สุโขทัยภายใต้ราชวงศ์พระร่วง
พ่อขุนบางกลางหาว หรือพระนามเมื่ออภิเษกเป็นกษัตริย์สุโขทัยว่า“ศรีอินทรบดินทราทิตย์” หรือที่รู้จักในนาม พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่ครองราชอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อกันมา สำหรับปีที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์อภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย อยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18
ข้อความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ช่วยให้ทราบประวัติศาสตร์สุโขทัยได้มากขึ้นว่าเมื่อพ่อ-ขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้สู้รบกับคนไทยด้วยกันคือ พ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด แสดงว่าในระยะนั้นยังมีกลุ่มคนไทยปกครองนครรัฐต่าง ๆ โดยไม่ขึ้นต่อกัน
ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังได้บรรยายความเจริญรุ่งเรือง ของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุน-รามคำแหงว่า มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ทางใต้ลงไปถึงนครศรีธรรมราช แหลมมลายู ทางตะวันตกถึงหงสาวดี ทางเหนือจดแพร่ น่าน ถึงฝั่งหลวงพระบาง ในการแผ่อำนาจของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คงจะไม่ใช้การแผ่อำนาจทางแสนยานุภาพ แต่คงใช้นโยบายทางการเมือง ให้หัวเมืองใหญ่น้อยเข้ามารวมอยู่ในแว่นแคว้นสุโขทัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคือ ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นในปี พ.ศ. 1826 และยังคงใช้สืบต่อมาจนทุกวันนี้
หลักฐานความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนา สถาปัตยกรรม ยังปรากฎแจ้งชัดจากหลักฐาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและโบราณสถาน โดยเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ได้เจริญรุ่งเรืองในราชอาณาจักรสุโขทัย
เมื่อพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 1893 กรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลงเป็นลำดับ และต้องอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1921 แต่ยังมีกษัตริย์สืบราชวงศ์ต่อมา จนถึง พ.ศ. 1981 จึงรวมเป็นอาณาจักรเดียวกับกรุงศรีอยุธยา
ระบบผังเมือง
เมืองสุโขทัยมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1800 เมตร ยาวประมาณ 2000 เมตร มีกำแพงที่ทำเป็นคันดินถมอัดแน่นล้อมรอบ 3 ชั้น ระหว่างกำแพงเมืองแต่ละชั้นจะมีคูน้ำคั่นกลาง เกือบกึ่งกลางกำแพงเมืองแต่ละด้านมีประตูเมืองเปิดไว้ และมีป้อมดินรูปสี่เหลี่ยมขวางอยู่ ประตูเมืองทั้งสี่ประตูในปัจจุบันมีชื่อเรียกดังนี้ ด้านทิศเหนือเรียกว่าประตูศาลหลวง ด้านทิศตะวันออกเรียกว่าประตูกำแพงหัก ด้านทิศใต้เรียกว่าประตูนะโม ด้านทิศตะวันตกเรียกว่าประตูอ้อ
ภายในเมืองมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง ส่วนวัดอื่นๆที่เกาะกลุ่มกับวัดมหาธาตุจนเป็นแกนหลักของเมือง ประกอบด้วย วัดชนะสงคราม วัดศรีสวาย วัดตระพังเงิน วัดสระศรี วัดตระกวน วัดใหม่ และวัดตระพังทอง นอกจากนี้ยังมีสระน้ำขนาดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะสระน้ำขนาดใหญ่นั้น น่าจะสร้างตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เพราะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือขอบเขตของวัด
บริเวณนอกตัวเมืองทั้งสี่ด้าน ยังมีโบราณสถานขนาดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ด้านทิศเหนือมีวัดพระพายหลวง วัดศรีชุม เตาทุเรียง ทิศตะวันออกมีวัดช้างล้อม วัดเจดีย์สูง วัดตระพังทองหลาง ทิศใต้มีวัดพระเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม ทิศตะวันตกเป็นกลุ่มวัดเขตอรัญญิก มีวัดสำคัญ ๆ เช่น วัดป่ามะม่วง วัดมังกร วัดสะพานหิน วัดพระบาทน้อย และวัดเจดีย์งาม นอกจากนี้ในแต่ละด้านยังมีสิ่งก่อสร้างเนื่องในระบบชลประทาน เช่น คันบังคับน้ำ ทำนบ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ
ลักษณะของเมืองที่กำหนดศาสนสถานเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ คงจะได้รับอิทธิพลจากเขมรผสมผสานกับอิทธิพลทางพุทธศาสนาแบบหินยาน โดยมีศาสนสถานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตามลำดับกาลเวลาเป็นตัวหลักในการกำหนดรูปทรงของเมือง
ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณประตูเมือง และกำแพงเมืองทั้งสี่ด้านของโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในปี พ.ศ. 2521 - 2524 พบหลักฐานที่แสดงถึงการก่อสร้างกำแพงเมืองสุโขทัยว่ามีการก่อสร้าง 2 สมัยด้วยกันคือ
สมัยการสร้างเมืองสุโขทัยระยะแรก มีเฉพาะกำแพงเมืองชั้นใน และประตูเมืองทั้งสี่ด้านเท่านั้น โดยพบหลักฐานการก่อสร้างวัดในพุทธศาสนาบริเวณป้อมประตูเมืองทางด้านทิศใต้ (ประตูนะโม)
สมัยที่สอง (ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20) เป็นต้นมา มีการสร้างป้อมรูปสี่เหลี่ยมขวางประตูเมืองชั้นใน กำแพงเมืองชั้นกลาง และกำแพงเมืองชั้นนอก ด้วยเหตุนี้บริเวณประตูนะโม (ประตูทาง-ด้านทิศใต้) ป้อมรูปสี่เหลี่ยมจึงสร้างอยู่บนศาสนสถานหรือบนวัดที่มีมาก่อน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นในให้สูงขึ้น รวมทั้งมีการก่ออิฐประกอบแกนดินที่บริเวณประตูอ้อ (ประตูทางด้านทิศตะวันตก)
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมในเมืองสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานสำหรับอาคารที่เป็นปราสาทราชวัง และบ้านเรือนของประชาชนจะสร้างด้วยไม้ จึงไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน
พัฒนาการของสถาปัตยกรรมอาจแบ่งออกได้เป็น 2 สมัยคือ
1. รุ่นก่อนสุโขทัย หรือก่อนราชวงศ์พระร่วง เป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์ และ
ศาสนาพุทธแบบมหายาน มีแบบแผนการสร้างเป็นปรางค์ 3 องค์เรียงกันในแนวนอนคือ วัดพระพายหลวง วัดศรีสวาย และที่เป็นปรางค์แบบยกฐานสูงมีมุขหน้าที่ศาลตาผาแดง แบบทั้งหมดเป็นแบบศิลปะลพบุรีอิทธิพลศิลปะเขมร
2. รุ่นสมัยสุโขทัย หรือสมัยราชวงศ์พระร่วง ประมาณตั้งแต่รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นต้นมา สถาปัตยกรรมจะเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิหินยานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นศาสนาหลักของเมือง
การวางแผนผังอาคารที่เป็นวัดในสมัยสุโขทัยจะใช้แกนทิศตะวันออก – ตะวันตก เกือบทั้งหมด โดยหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำหรือกำแพงที่ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงล้อมรอบแสดงขอบเขตวัด สิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักจะประกอบด้วยอาคารที่เป็นวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ มณฑป หรือพระปรางค์
วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างใช้อิฐและศิลาแลงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีหินชนวนเป็นส่วนประกอบบ้าง ศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่และใช้ก่อส่วนฐานอาคารจะใช้วิธีเรียงทับตามแบบอิทธิพลเขมร โดยไม่มีตัวประสาน เรียกเทคนิคการก่อแบบนี้ว่าก่อแบบแห้ง ส่วนศิลาแลงขนาดเล็กที่ใช้ก่อโดยทั่วไปจะใช้ดินเป็นตัวประสานเช่นเดียวกับอิฐ เมื่อก่อวัสดุเสร็จแล้วจะฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง ปูนที่ใช้ฉาบผนังหรือทำลวดลายประดับประกอบด้วย ปูนขาว ทราย น้ำอ้อย หนังสัตว์เคี่ยวจนเปื่อยเป็นน้ำเหนียว
ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม แบ่งตามหน้าที่และรูปทรงได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อาคารประเภทนี้มีวิหารและอุโบสถ วิหาร เป็นอาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมให้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมสร้างขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ในแกนหลักของวัด ส่วนโบสถ์เป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ประกอบกิจโดยเฉพาะจึงมีขนาดเล็ก และมักจะตั้งอยู่นอกคูน้ำหรือนอกกำแพงวัด มีใบเสมาหินชวนปักคู่ 8 ตำแหน่ง
แผนผังอาคารทั้งสองประเภทเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีขนาดตั้งแต่ 4 – 11 ห้อง (ช่วงเสา) ส่วนด้านกว้างหรือด้านสกัดจะมีช่วงเสากลางตามความกว้างของห้องและมีช่วงเสาเล็กที่รับชายคา ฐานและเสาก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง เสาจะมีทั้งแบบกลมและแปดเหลี่ยม จากร่องรอยเสาที่ยังเหลืออยู่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โครงสร้างหลังคาใช้ไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบขอเต็มลดหลั่นไล่กันเป็นทอด ๆ มีการทำเครื่องสังคโลกมาประดับส่วนหลังคา เช่น ช่อฟ้า นาคหรือหัวมกรประดับส่วนชายคา บราลีตั้งบนสันหลังคา และตรงหัวแปมีเครื่องสังคโลกหุ้ม
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของอาคารที่เป็นวิหารและโบสถ์คือจะมีทั้งที่เป็นอาคารโถง ไม่ก่อผนังด้านข้าง แต่จะใช้ปีกนกหรือชายคาแผ่เหยียดออกไปในระดับต่ำเพื่อกันแดดฝน ตัวอย่างของอาคารแบบนี้ เช่น วิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ส่วนอาคารอีกลักษณะหนึ่งก่อผนังค่อนข้างสูงไม่มีหน้าต่าง แต่จะเจาะผนังเป็นช่องลูกกรงเล็ก ๆ เช่น วิหารด้านหน้าพระปรางค์วัดศรีสวาย และวิหารวัดเจดีย์สี่ห้อง เมืองสุโขทัย
2. สถาปัตยกรรมที่ใช้สักการะในรูปสัญลักษณ์ ได้แก่ เจดีย์ มณฑป และปรางค์
2.1 เจดีย์ รูปแบบเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ที่เป็นแบบสำคัญมี 3 แบบ คือ
2.1.1 เจดีย์สุโขทัยแท้ หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นแบบเจดีย์ที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยโดยเฉพาะไม่มีต้นแบบหรือแหล่งที่มาชัดเจน นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้สันนิษฐานเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและแนวคิดในการสร้างต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเป็นการดัดแปลงมาจากลักษณะดอกบัว ซึ่งคือเป็นดอกไม้บูชาที่คู่กับพุทธศาสนา บางท่านสันนิษฐานว่า เป็นการดัดแปลงเค้าโครงมาจากพระปรางค์แบบศิลปะลพบุรีแล้วนำมาผสมกับเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา และบางท่านได้เสนอว่าเป็นแนวคิดของช่างสุโขทัยที่สร้างเจดีย์แบบนี้ เพื่อให้ต่างไปจากพระปรางค์ตามแบบอิทธิพลเขมร อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ก็ยังไม่เป็นที่ยุติในทางวิชาการ ส่วนประกอบต่าง ๆของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คือ ฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น จากนั้นทำเป็นฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบซ้อนกัน 2 ชั้น ขึ้นไปเป็นเรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบเช่นเดียวกัน ส่วนยอดที่ต่อจากเรือนธาตุคือทรงดอกบัวตูม จากนั้นจะมีวงแหวนหรือปล้องไฉนเรียงซ้อนลดขนาด แล้วจึงเป็นทรงกรวยแหลมในที่สุด อย่างไรก็ตามยังมีบางแห่งที่ทำชั้นแว่นฝ้าย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบเพียงชั้นเดียว เช่น เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์วัดซ่อนข้าว เมืองสุโขทัย สำหรับที่วัดเจดีย์ยอดทอง จังหวัดพิษณุโลก ที่บริเวณส่วนเรือนธาตุมีการทำซุ้มเพิ่มเติมขึ้น
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีการสร้างกันอย่างแพร่หลายในสมัยสุโขทัย ที่ปรากฎในเมืองสุโขทัยคือ วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดซ่อนข้าว วัดอ้อมรอบ วัดอโศการาม และที่ปรากฎเฉพาะฐานซึ่งรู้ว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีอยู่ตามเมืองต่าง ๆ คือเมืองศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ รวมทั้งที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่แต่ปัจจุบันไม่เหลือหลักฐาน และเมื่อสิ้นอาณาจักรสุโขทัยแล้ว เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ก็ไม่มีการสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาอีก
2.1.2 เจดีย์ทรงกลม สันนิษฐานกันว่าคงได้รับอิทธิพลจากลังกาพร้อมกับการรับพุทธศาสนา บางครั้งจึงเรียกกันว่า เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ส่วนประกอบต่าง ๆ ขององค์เจดีย์คือ ฐานล่างทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น จากนั้นจะเป็นฐานบัวซึ่งอาจจะมีหนึ่งชั้นหรือสองชั้น ถัดขึ้นไปจะเป็นมาลัยเถาเรียงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น ลักษณะมาลัยเถาจะทำเป็นรูปบัวค่ำ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบัวถลา อันเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงกลมสุโขทัย จะต่างไปจากของอยุธยาและรัตนโกสินทร์ที่ทำมาลัยเถาลักษณะกลม ถัดจากมาลัยเถาขึ้นไปจะเป็นองค์ระฆังซึ่งบริเวณส่วนล่างจะมีบัวปูนปั้นประดับ เรียกกันว่า บัวปากระฆัง การทำบัวปากระฆังนี้มีมาก่อนแล้วในศิลปะพม่าแห่งเมืองพุกาม และอาจจะให้อิทธิพลต่อศิลปะสุโขทัย องค์ระฆังรองรับส่วนที่เป็นบัลลังก์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไปเป็นส่วนแกน แล้วเป็นปล้องไฉนปลียอด จนถึงเม็ดน้ำค้างเป็นที่สุด ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เจดีย์ทรงกลมสมัยสุโขทัยจะไม่มีเสาหานเหนือบัลลังก์เช่นเจดีย์ทรงกลมสมัยอยุธยา
เจดีย์ทรงกลมที่ปรากฎในเมืองสุโขทัย เช่น วัดชนะสงคราม วัดสระศรี วัดตระกวน วัดตระพังทอง และเจดีย์รายอีกเป็นจำนวนมากในวัดมหาธาตุ นอกจากนี้ยังก่อสร้างแพร่หลายทั้งเมืองศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์
เจดีย์ทรงกลมแบบพิเศษ คือ เจดีย์ช้างล้อม รูปแบบสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปจะเหมือนกับเจดีย์ทรงกลม เพียงแต่มีการนำประติมากรรมรูปช้างมาประดับส่วนฐาน โดยขยายฐานและส่วนอื่น ๆ ให้เหมาะสม มีปรากฎหลายแห่งในเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร สันนิษฐานกันว่ารับแบบอย่างมาจากประเทศลังกา ผ่านมาทางเมืองนครนครศรีธรรมราช เจดีย์ช้างล้อมสมัยสุโขทัยจึงมีลักษณะคล้ายกับพระบรมธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช
2.1.3 เจดีย์ทรงปราสาท องค์ประกอบของเจดีย์คือ ส่วนฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ ซึ่งมีการทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ตรงมุมบนของเรือนธาตุจะประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กทั้งสี่มุม ต่อจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง แล้วจึงเป็นปลียอด เจดีย์แบบนี้เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะศรีวิชัย จึงมักเรียกเจดีย์ทรงปราสาทของสุโขทัยอีกอย่างหนึ่งว่าเจดีย์แบบศรีวิชัย เจดีย์แบบนี้มีปรากฎเป็นเจดีย์มุมประกอบเจดีย์พุ่มข้างบิณฑ์ที่เป็นประธานวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย และเจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย
นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีกแบบหนึ่งที่ปรากฎเป็นเจดีย์ประธานวัดเจดีย์สูง นอกเมืองสุโขทัยทางด้านตะวันออก ลักษณะส่วนยอดของเจดีย์จะเหมือนกับเจดีย์ทรงกลม คือ ทำมาลัยเถาเป็นแบบบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังที่มีปูนปั้นบัวปากระฆังประดับ จากนั้นเป็นบัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด แต่ส่วนฐานมีการพัฒนาให้ต่างออกไปคือได้ขยายฐานหน้ากระดานให้สูงขึ้นจนเป็นผนังปริมาตรรูปสี่เหลี่ยม
ย่อมุมเพื่อรองรับส่วนยอด ซึ่งเป็นลักษณะผสมระหว่างศิลปะศรีวิชัยกับศิลปะสุโขทัย
เจดีย์ประธานวัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม นอกเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้ทำฐานสูงคล้ายกับเจดีย์ประธานวัดเจดีย์สูง ลักษณะฐานที่ยืดให้สูงขึ้นนั้นเป็นฐานบัวลูกแก้วอันเป็นลักษณะฐานของสุโขทัย หลักฐานจากศิลาจารึกซึ่งพบที่วัดแห่งนี้บอกศักราชที่สร้างวัดเอาไว้ คืออยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ดังนั้นรูปแบบเจดีย์ประธานวัดศรีพิจิตรกิติกัลยารามจึงเป็นแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย
2.2 มณฑป ในสมัยสุโขทัยนิยมสร้างมณฑปให้ทำหน้าที่แทนเจดีย์อยู่ด้านหลังวิหารจะมี 2 แบบด้วยกัน คือมณฑปที่มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านข้างก่อหนา มีทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเต็มคับอยู่ภายในห้อง โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนเป็นชั้น ๆ ใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคา ซึ่งหลังคาได้หักพังลงทั้งหมด มณฑปแบบนี้มีที่วัดศรีชุม วัดตึก วัดศรีโทน วัดซ่อนข้าว และวัดตระพังทองหลาง สำหรับมณฑปวัดศรีชุมจะทำผนัง 2 ชั้น มีบันไดอยู่กลางสามารถเดินขึ้นไปจนถึงหลังคาได้ สันนิษฐานกันว่าอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกาสมัยโปลนนารุวะ หรืออาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าที่เมืองพุกาม ซึ่งนิยมสร้างผนัง 2 ชั้น มีบันไดอยู่ภายในสำหรับเดินขึ้นไปชั้นบน
ส่วนมณฑปอีกลักษณะหนึ่งจะทำเป็นมณฑปโถง ตรงกลางจะมีแท่นทึบเพื่อรับส่วนหลังคา และมีพระพุทธรูปประดับผนังทั้งสี่ด้าน ที่เรียกพระพุทธรูปสี่อิริยาบทคือ มีพระพุทธรูปนั่ง ยืน เดิน และนอน ผนังแต่ละด้านจะมีมุขยื่นออกมาเสมอกัน โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้หักพังลงจนหมด มณฑปลักษณะนี้พบที่วัดเชตุพน วัดพระพายหลวงเมืองสุโขทัย และที่วัดพระสี่อิริยาบท จังหวัดกำแพงเพชร
2.3 พระปรางค์ มีที่วัดพระพายหลวงและวัดศรีสวาย เป็นลักษณะศิลปะลพบุรีที่สร้างมาก่อนสมัยสุโขทัย และสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาลัทธิมหายานและพราหมณ์ แบบแผนผังเป็นปรางค์ 3 องค์เรียงกันในแนวนอน สมัยสุโขทัยได้แปลงโบราณสถานทั้งสองแห่งให้เป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิหินยาน และใช้ปรางค์ที่มีมาแต่เดิมเป็นสถูปหลักโดยสร้างวิหารขึ้นทางด้านหน้า ที่วัดพระพายหลวงพบพระ-พุทธรูปปูนปั้นสมัยสุโขทัยอยู่ในปรางค์องค์ใหญ่ ส่วนที่วัดศรีสวายคงจะมีการแก้รูปแบบให้เป็นปรางค์ไทยคือ ทำทรงสูงชลูดขึ้นกว่าเดิม และลวดลายปูนปั้นกลีบขนุนก็เป็นแบบศิลปะสุโขทัย
สถาปัตยกรรมสุโขทัย และรวมไปถึงงานช่างในศิลปะสุโขทัยแขนงต่างๆ คงจะไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อม ๆ กับอำนาจทางการเมืองกล่าวคือ แม้สุโขทัยจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 แต่รูปแบบทางศิลปะได้สืบเนื่องอยู่ในเมืองสุโขทัยและในบริเวณที่เคยเป็นแว่น-แคว้นสุโขทัยมาอีกเกือบ 200 ปี ตราบจนสมเด็จพระนเรศวรได้อพยพชุมชนชาวสุโขทัยครั้งใหญ่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 หรือช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางศิลปะสุโขทัยคงจะสิ้นสุดในช่วงระยะเวลานั้น
……………………………………………….
ที่มา : สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย http://www.finearts.go.th/fad6/parameters/km/item/ประวัติความเป็นมาของเมืองสุโขทัย.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น